สารบัญบทความ
ในช่วงการเริ่มต้นเรียนขับรถหลายคนมักจะชอบถอดรองเท้า เพราะรู้สึกว่าถนัดกว่า เพราะได้เหยียบสัมผัสกับเบรก คลัชต์ คันเร่ง ได้มั่นใจกว่า จึงมักชอบถอดรองเท้าเวลาขับรถ แต่ทราบหรือไม่ว่า ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการขับรถไม่แนะนำให้ถอดรองเท้าขณะขับรถ เพราะเกิดอันตรายได้ง่าย
จากผลการสำรวจจากเว็บไซต์ Confused พบว่า ผู้หญิงมากกว่า 39% สวมรองเท้าแตะขับรถ อีก 37% สวมรองเท้าอื่น ๆ ในการขับรถ และ 24% นิยมขับรถด้วยเท้าเปล่า นั่นแสดงว่าผู้หญิงที่ชอบถอดรองเท้าขับรถมีน้อยกว่าคนที่ชอบสวมรองเท้าขับรถ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะผู้เชี่ยวชาญการขับรถแนะนำว่า การสวมรองเท้าขณะขับรถถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ปลอดภัยมากกว่าการถอดรองเท้าขณะขับรถ
ดังนั้นการถอดรองเท้าขณะขับรถ ย่อมส่งผลเสียและอันตรายมากกว่า และนี่คือผลของอันตรายจากการถอดรองเท้าเมื่อขับรถ
อันตรายจากการถอดรองเท้าขับรถ
- ผู้ขับรถเกิดอาการเกร็งเท้าจนอาจเป็นตะคริวได้ เพราะต้องเกร็งเท้ามากในขณะขับรถ ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวดที่เท้าและบริเวณขาได้ และยังไปลดประสิทธิภาพในการขับขี่อีกด้วย
- หากเท้าเปียกอันเนื่องมาจากเหงื่อหรือฝน ก็จะทำให้เท้ามีความลื่น เวลาเหยียบเบรก เหยียบคลัชต์ เหยียบคันเร่ง ก็อาจทำให้เท้าลื่นไถลออกจากแป้นเหยียบได้ ทำให้เกิดอันตรายในการขับขี่ และข้อเท้าพลิกบาดเจ็บได้
- การถอดรองเท้าไว้ใต้ที่นั่งเบาะคนขับ ก็จะเกิดอันตรายในการขับขี่ได้ง่าย หากรองเท้านั้นลื่นไถลไปขัดกับแป้นเหยียบเบรก คันเร่ง หรือคลัชต์ จึงไม่ควรวางสิ่งใดรวมทั้งรองเท้าไว้ใต้เบาะที่นั่งคนขับ
- เท้ามีกลิ่นเหม็น อันเนื่องมาจากความอับชื้นของเหงื่อในขณะสวมรองเท้าไปทำกิจกรรมต่าง ๆ และเมื่อถอดรองเท้าออกขณะขับรถ ก็จะยิ่งเพิ่มความสกปรกให้กับเท้ามากขึ้น เป็นที่สะสมของแบคทีเรีย ทำให้เท้ามีกลิ่นเหม็น ส่งผลต่อสภาวะอารมณ์ของผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่นั่งรถมาด้วยได้ และทำให้เป็นโรคเชื้อราที่เท้าอีกด้วย
- การถอดรองเท้า อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรครองช้ำที่ส้นเท้าได้ เนื่องจากการลงน้ำหนักเท้าไม่เท่ากัน และการที่เท้าใช้กล้ามเนื้อออกแรงในส่วนเดิมซ้ำกันเรื่อย ๆ ทุกวัน โดยเฉพาะส้นเท้าส่งผลให้เกิดอาการอักเสบปวดบวมที่บริเวณส้นเท้า และลักษณะการเดินผิดปกติไปจากปกติ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการควบคุมและขับรถยนต์ด้วยหากถอดรองเท้าขับรถ
- การถอดรองเท้าขณะขับรถ ถือว่าผิดกฎหมาย โดยกฎหมายได้บังคับให้ผู้ขับขี่รถรับจ้าง รถสาธารณะ รวมไปถึงรถแท็กซี่, รถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือรถนำเที่ยว ฯลฯ ต้องสวมรองเท้าหุ้มส้นขณะขับรถด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของผู้ประกอบอาชีพให้บริการนี้
โดย พ.ร.บ.การขนส่งทางบก มาตรา 102 (1) และกฎกระทรวง พ.ศ. 2555 ระบุว่า “ในขณะขับรถรับจ้าง รถยนต์สาธารณะ ผู้ขับขี่ต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยรัดกุม และสวมใส่รองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มข้อ หากฝ่าฝืนจะถูกระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 127”
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า การถอดรองเท้าขณะขับรถ ส่งผลเสียและอันตรายต่อผู้ขับขี่และผู้โดยสารหากมีผู้โดยสารนั่งมาด้วย รวมทั้งผู้ใช้รถใช้ถนน แต่ทว่าการสวมรองเท้าขณะขับรถนั้นทำให้เกิดอันตรายที่น้อยกว่า และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการขับขี่ได้มากกว่า อีกทั้งช่วยให้เท้าไม่เกิดอาการบาดเจ็บอีกด้วยนอกจากนี้ที่สำคัญ ควรขับขี่อย่างมีสติ ระมัดระวังเสมอนะครับ ไม่ประมาทเป็นดีที่สุดครับผม